ประเภทของสารเคมีอันตราย
อันตรายทางด้านเคมี
ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องการสารเคมีจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่าสารเคมีที่เกี่ยวข้องนั้นอาจมีอันตรายอย่างเฉียบพลัน
อันเกิดจากสารระเบิด ไฟไหม้ การระคายเคืองต่าง ๆ จากพิษของสารเคมี
รวมทั้งผลที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพในระยะยาว
ดังนั้นผู้ทำงานจะต้องเข้าในถึงพิษภัยของสารที่ตัวเองเกี่ยวข้อง อันตรายในด้านเคมีนี้จะกล่าวถึง
ประเภทของสารเคมี อันตรายจากสารเคมีในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งผลที่มีต่อสุขภาพ
ข้อมูลและสัญลักษณ์ที่พึงทราบและการกู้ภัยเมื่อเกิด เหตุการณ์ฉุกเฉิน
การจำแนกประเภทของสารเคมี และวัตถุอันตราย
ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะวางมาตรฐานต่าง
ๆ ขึ้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ และสิ่งแวดล้อมมาตามลำดับ จนปี พ.ศ. 2499
คณะผู้เชี่ยวชาญด้านขนส่งสินค้าอันตราย ซึ่งตั้งขึ้นโดย Economic and
Social Council. ของ United Nations. ได้กำหนดมาตรฐานเบื้องต้นในการขนส่งวัตถุอันตรายขึ้นโดยแบ่งวัตถุอันตรายออกเป็น
9 ประเภท เพื่อประโยชน์ในการขนส่ง การใช้และการเก็บวัตถุอันตราย ให้มีความปลอดภัย
ดังนี้
ประเภท 1
วัตถุระเบิด (Explosives) เป็นวัตถุที่ระเบิดลุกติดไฟได้ เมื่อ
ได้รับความร้อน ประกายไฟ เปลวไฟ หรือเมื่อได้รับการกระทบกระเทือน การเสียดสี
หรือถูกกระทำด้วยการจุดระเบิด แบ่งเป็น 6 ประเภทย่อย ตามลักษณะ
และความเร็วของการระเบิด ดังนี้
ประเภทย่อย 1.1 หมายถึง
สารหรือสิ่งของที่เกิดระเบิดได้ในทุกส่วน โดยระเบิดรุนแรงฉับพลัน
ประเภทย่อย 1.2 หมายถึง
สารหรือสิ่งของที่อาจก่ออันตราย โดยการกระจายของสะเก็ดระเบิด
แต่ไม่เกิดการระเบิดตูมทั้งหมดในทุกส่วนอย่างรวดเร็วฉับพลัน
ประเภทย่อย 1.3 หมายถึง
วัตถุที่มีความเสี่ยงในการเกิดเพลิงไหม้ และมีอันตรายจากการระเบิดบ้างเล็กน้อย
หรือมีอันตรายจากการกระจายของสะเก็ดระเบิดบ้างเล็กน้อย
อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างโดยไม่เกิดระเบิดทั้งหมดอย่างรวดเร็วฉับพลัน
ประเภทย่อย 1.4 หมายถึง
วัตถุที่ไม่อันตรายมากนักในการติดไฟหรือกระทบกระแทก
แต่จะมีผลต่อภาชนะบรรจุเป็นส่วนใหญ่
ประเภทย่อย 1.5 หมายถึง
สารที่ไม่มีความไวในการระเบิด โอกาสจุดระเบิดมีน้อย
หากระเบิดจะเกิดความเสียหายแบบหมดทุกส่วน
ประเภทย่อย 1.6
เป็นสิ่งของที่ไม่มีความไวต่อการระเบิดเลย และไม่มีอันตรายแบบการระเบิดทุกส่วน
ประเภท 2
ก๊าซ หมายถึง สารที่มีความดันไอมากกว่า 300 kPa ที่อุณหภูมิ
50oC เป็นวัตถุอัดในสถานะก๊าซภายใต้ความดัน
แบ่งได้เป็น 3 ประเภทย่อย คือ
ประเภทย่อย 2.1
ก๊าซเหลวอัดภายใต้ความดัน ซึ่งอาจเป็นก๊าซไวไฟ
ทั้งหลายซึ่งอาจเกิดระเบิดและอัคคีภัย การสลายตัวของก๊าซให้ก๊าซพิษ หรือเมื่อ
รั่วไหลติดไฟแล้วให้ก๊าซพิษ เช่น อะเซทิลิน โบรโมไตรฟลูออโรเอธิลีน บิวทา-ไดอีน
อีเทน เอธิลีน ไฮโดรเจน และมีเทน เป็นต้น
ประเภทย่อย 2.2
เป็นก๊าซไม่มีพิษและไม่ไวไฟ อาจระเบิดได้ หากเกิดรั่วไหลออกมาจะทำให้หายใจไม่ออก
เพราะก๊าซออกซิเจนในอากาศเจือจางลง หรือก๊าซที่มีสมบัติเป็นตัวออกซิไดซ์ ซึ่งเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนแล้ว
เกิดเผาไหม้หรือช่วยให้เกิดเผาไหม้ได้ เช่น อาร์กอน ไนโตรเจน ฮีเลียม
คาร์บอนไดออกไซด์ คลอโรไดฟลูออโรมีเทน
ประเภทย่อย 2.3 เป็นก๊าซมีพิษ
ระเบิดได้และให้ก๊าซพิษ หากเผาไหม้อาจให้ก๊าซพิษชนิดอื่นอีกได้ เช่น คลอรีน
โบรอนไตรฟลูออไรด์
ประเภท 3
ของเหลวไวไฟ เป็นของเหลวหรือของเหลวผสมที่ให้ไอระเหยที่ไวไฟ
สามารถติดไฟได้โดยมีจุดวาบไฟ (flash point) ที่อุณหภูมิต่ำกว่า
60.5 oC ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสี ทินเนอร์ แลกเกอร์
น้ำมันวานิช และตัวทำละลาย ต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อยดังนี้
ประเภทย่อย 3.1
จำพวกที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า -18 oC
ประเภทย่อย 3.2
จำพวกที่มีจุดวาบไฟสูงปานกลาง (-18 oC ถึง 23 oC)
ประเภทย่อย 3.3
จำพวกที่มีจุดวาบไฟสูงกว่า 23 oC ถึง 60.5 oC
ประเภท 4
ของแข็งไวไฟ หรือวัตถุที่อาจลุกไหม้ได้เอง
หรือวัตถุที่สัมผัสกับน้ำแล้วให้ก๊าซไวไฟ แบ่งเป็น 3 ประเภทย่อย ดังนี้
ประเภทย่อย 4.1 ของแข็งไวไฟ หมายถึง
ของแข็งที่อาจลุกไหม้ได้ง่ายระหว่างขนส่ง
อันเนื่องมาจากการเสียดสีของสารหรือเสียดสีกับสารข้างเคียง เช่น ผงกำมะถัน
ฟอสฟอรัสไตรซัลไฟด์
ประเภทย่อย 4.2
สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้เองได้ หมายถึงสารที่อาจร้อนขึ้นมาแล้วลุกไหม้ได้เอง
ในระหว่างขนส่งหรือสารที่สัมผัสกับอากาศแล้วทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นจนติดไฟได้ เช่น
ฟอสฟอรัสขาว
ประเภทย่อย 4.3
สารที่ไวไฟเมื่อสัมผัสกับน้ำ หรือให้ก๊าซที่ไวไฟในปริมาณที่เป็นอันตรายได้ เช่น
โลหะโซเดียม โพแทสเซียม และแคลเซียมคาร์ไบด์
ประเภท 5
สารออกซิไดซ์ และออร์แกนิกเปอร์ออกไซด์ ประเภทนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทย่อย
ประเภทย่อย 5.1
สารออกซิไดซ์ส่วนใหญ่เป็นสารที่ตัวเองไม่ติดไฟ
แต่ช่วยให้ไฟติดได้โดยการปล่อยออกซิเจนออกมา เช่น อะลูมิเนียมไนเตรท
แอมโมเนียมไนเตรท โพแทสเซียมคลอเรท เป็นต้น
ประเภทย่อย 5.2 สารออร์แกนิกเปอร์ออกไซด์
เป็นสารไม่เสถียร เมื่อถูกความร้อนจะเกิดการสลายตัวที่รุนแรง
ความรุนแรงจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจเกิดระเบิดได้
ประเภท 6
วัตถุมีพิษและแพร่เชื้อได้ ประเภทนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย คือ
ประเภทย่อย 6.1 วัตถุมีพิษ หมายถึง
สารพิษที่เป็นอันตรายถึงชีวิต หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น อาร์เซนิกไตรออกไซด์
แบเรียมไซยาไนด์ ไดคลอโรมีเทน เป็นต้น
ประเภทย่อย 6.2 วัตถุแพร่เชื้อได้
หมายถึง วัตถุที่มีส่วนประกอบของเชื้อโรค หรือสิ่งที่ทำให้เกิดโรค แบคทีเรีย พยาธิ
เชื้อรา ฯลฯ
ประเภท 7
วัตถุกัมมันตรังสี เป็นวัตถุที่สลายตัวให้กัมมันตภาพรังสีออกมาเกิน 0.002
ไมโครคูรีต่อน้ำหนักสาร 1 กรัม ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น
ประเภท 8
สารกัดกร่อน เป็นสารที่มีสมบัติกัดกร่อน
ทำลายเนื้อเยื่อหรือทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ หรือต่อนัยน์ตา เช่น
กรดซัลฟิวริก กรดไนตริก กรดไฮโดรคลอริก กรดฟอสฟอริก โซเดียมไฮดรอกไซด์ เป็นต้น
ประเภท 9
วัตถุอันตรายอื่น ที่อยู่นอกเหนือทั้ง 8 ประเภท ดังกล่าว เช่น แอสเบสตอส
สังกะสีไฮโดรซัลไฟต์ พีซีบี (PCBs) เป็นต้น
อ้างอิง : https://bit.ly/2AAZwJT
อ้างอิง : https://bit.ly/2AAZwJT
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น